วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พื้นฐานการทำวิจัย (โครงงาน หรือ Project )

    การวิจัยเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ ข้อเท็จจริง ตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่แน่นอน กระบวนการวิจัย แบ่งออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้
    1.การวิเคราะห์ปัญหา (Problem) เป็นขั้นตอนที่เราจะสังเกตพบปัญหาในความต้องการ ความรู้ความจริงหนึ่งว่า มีเหตุการณ์หรือสภาพการณ์เป็นอย่างไร มีเหตุหรือปัจจัยอะไรที่ทําให้เกิดเหตุการณ์หรือสภาพการณ์นั้น
    2.การตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) ในขั้นตอนนี้เราจะต้องศึกษาและทบทวนความรู้ ที่มีอยู่เดิมมาประกอบการพิจารณาว่า คําตอบของปัญหาในขั้นที่ 1 นั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรียกว่า การตั้งสมมติฐาน ซึ่งจะเป็นแนวในการตรวจสอบว่า สมมติฐานที่ตั้งขึ้นนี้จะเป็นจริงหรือไม่
    3.การรวบรวมข้อมูล (Gathering Data) ในขั้นนี้จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาอย่างเพียงพอและตรงกับสิ่งที่ต้องการศึกษา
    4.การวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) ในขั้นนี้จะเป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมมาทําการวิเคราะห์เพื่อมาหาลักษณะรวมหรือสอดคล้องกันของข้อมูลเหล่านั้น และพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านี้มีกี่ลักษณะและแตกต่างอย่างไร
    5.การสรุปผล (Conclusion) ในขั้นตอนนี้เป็นการนําผลการวิเคราะห์มาแปลผลและตีความผลการวิจัยที่พบ อันเป็นการสรุปผล


การกำหนดปัญหาและสมมติฐาน
    1.ปัญหาได้มาจากแหล่งต่างๆ กัน อาจได้มาจากทฤษฎี  บทความ งานวิจัยเก่า ฯลฯ
    2.การตั้งปัญหาวิจัย เป็นการกำหนดชื่อเรื่อง และเขียนปัญหาการวิจัยหรือวัตถุประสงค์ชองการวิจัย ภายใต้ขอบเขตของปัญหาที่ผู้วิจัยได้บรรยายไว้ในส่วนของความเป็นมาหรือความสำคัญของปัญหาหรือภูมิหลัง

จุดประสงค์การวิจัย
    1.เป็นการขยายรายละเอียดแนวคิดของประเด็นปัญหาของการวิจัย  ว่าต้องการศึกษาอะไรบ้าง
    2.เป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้วิจัยมีแนวทางการหาคำตอบและช่วยกำหนดทิศทางการทำวิจัย
    3.ทำให้การกำหนดสมมติฐานการวิจัยได้ดีขึ้น
    4.เขียนเป็นรูปแบบประโยคบอกเล่า หรือประโยคการเปรียบเทียบ หรือประโยคความสัมพันธ์ ซึ่งขึ้นกับสิ่งที่ต้องการศึกษาวิจัย
    5.เขียนให้ชัดเจนว่าจะศึกษาในประเด็นใด

การตั้งสมมติฐานการวิจัย
    1.สมมติฐาน  คือผลหรือคำตอบที่คาดว่าจะได้รับจากการทำวิจัย ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภทคือ สมมติฐานทางสถิติและสมมติฐานทางการวิจัย สมมติฐานการวิจัยไม่จำเป็นต้องมีเสมอไป
    2.การเขียนสมมติฐานจะเขียนในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอย่างน้อยสองตัวแปร ยกเว้นกรณีตัวแปรเดียวเปรียบเทียบกับเกณฑ์
    3.เขียนเป็นประโยคบอกเล่า เขียนให้ครอบคลุมปัญหา
    4.เขียนให้เป็นไปได้ในทางตัดสินใจ สื่อข้อความที่ผู้อ่านเข้าใจตรงกัน
    5.สอดคล้องกับปัญหาวิจัยหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย มีความชัดเจน ทดสอบด้วยวิธีการทางสถิติได้


เอกสารอ้างอิง
1.ระเบียบวิธีวิจัย. ไพบูลย์ แจ่มพงษ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา   http://www.teacher.ssru.ac.th/paiboon_je/pluginfile.php/100/block_html/content/Research%20Mehtodology.pdf
2.ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ. พันธ์ศักดิ์  พลสารัมย์ http://www.priv.nrct.go.th/ewt_dl.php?nid=1268
3.การวิจัยทางการศึกษา.  สุรวาท ทองบุ  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 2550
4.ระเบียบวิธีวิจัยการศึกษาเบื้องต้น. บุญมี  พันธุ์ไทย  มหาวิทยาลัยรามคำแหง
5.การวิจัยทางการศึกษา. ไพศาล วรคำ. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, 2555
6.http://e-book.ram.edu/e-book/inside/html/dlbook.asp?code=MR393
7.http://e-book.ram.edu/e-book/m/MR393/chapter1.pdf