วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

กิลเวลล์ปาร์ค (GILWELL PARK)

กิลเวลล์ปาร์ค
    กิลเวลล์ปาร์ค  คือ  ค่ายลูกเสือแห่งแรกที่ได้จัดสร้างขึ้นมาตามความประสงค์ของลอร์ด เบเดน  เพาเวลล์ ผู้ให้กำเนิดการลูกเสือโลก  เพื่อใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ และการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือ ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์  ได้ทำการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เมื่อ ปี พ.ศ.  2462 และยังใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ  (The International Training Centre for Scouters) ในโอกาสต่อมา (Rex Hazlewood. 1961)
     กิลเวลล์ปาร์ค อยู่ที่เมืองซิงฟอร์ด  ใกล้กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  ครั้งหนึ่งในอดีตเคยเป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ  (The International Training  Centre  for  Scouters)  ลูกเสือทั่วๆ ไปมักจะเรียกว่า ศูนย์ฝึกอบรมลูกเสือโลกในขบวนการลูกเสือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า กิลเวลล์ปาร์ค  คือ  มหาวิทยาลัยแห่งวิชาการลูกเสือของโลกเพียงแห่งเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก  ครั้งที่  18 ซึ่งประชุมกันที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส  เมื่อปี พ.ศ.  2504 ได้ประกาศใช้โครงการฝึกอบรมวูดแบดจ์  (Wood Badge Training Scheme) เป็นโครงการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือทั่วโลก กิลเวลล์ปาร์ค จึงเป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
    จนกระทั่งในปี พ. ศ.  2512  การประชุมสมัชชาลูกเสือโลก  ครั้งที่  22 ที่เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ได้มีมติให้ปรับปรุงพัฒนาโครงการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือจากแบบเดิม ซึ่งเคยตกลงกันในที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครั้งที่ 18 ตามนโยบายซึ่งเรียกว่า  “ Lisbon Policy “ มาเป็นระบบใหม่แบบของสำนักงานลูกเสือตามนโยบายใหม่ คือ World Training Policy ซึ่งถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันนี้ แม้กระนั้นก็ตามหลักการใหญ่ ๆ ก็ยังเหมือนเดิมทุกประการ ส่วนวิธีการในการฝึกอบรมนั้น ได้ปรับปรุงได้บ้างเพื่อให้ทันสมัยและให้เป็นไปตามความเจริญก้าวหน้าของสังคม การพัฒนาทางวิทยาการและความก้าวหน้าในทางการศึกษาในปัจจุบันนี้ ( World  Scout  Bureau . 1977.)

กิลเวลล์ปาร์ค มีความสำคัญอย่างไร
    ในอดีต  กิลเวลล์ปาร์ค  เคยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะองค์การลูกเสือโลกถือว่า  กิลเวล์ปาร์ค เป็นองค์กรหนึ่งขององค์การลูกเสือโลก และทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ  ซึ่งมีผู้บังคับการค่าย  (Camp Chief)  เป็นหัวหน้าและเป็นผู้บริหารศูนย์ ฯ แห่งนี้
    กิลเวลล์ปาร์ค  ทำหน้าที่  3 ประการ คือ
    1.  เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ  (The International Training Centre for Scouters)
    2. เป็นค่ายลูกเสือสำหรับลูกเสือทั่วไป (ทั้งลูกเสือในประเทศและลูกเสือต่างประเทศ) ไปอยู่ค่ายพักแรม
    3.  ใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการทดลอง และค้นคว้า วิจัย เพื่อพัฒนาวิชาการลูกเสือและหลักสูตรการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือและลูกเสือ
    ในปัจจุบันนี้  แม้ว่ากิลเวลล์ปาร์ค  ไม่ได้เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่สมาคมลูกเสือทุกประเทศยังยอมรับว่า กิลเวลล์ปาร์คเป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  และยังถือว่าเป็นศูนย์ค้นคว้าทดลองในการพัฒนาวิชาการลูกเสือเพื่อความก้าวหน้าของขบวนการลูกเสือแห่งโลกต่อไป

ประวัติความเป็นมา
    เมื่อกิจการลูกเสือเจริญเติบโตขึ้น และก้าวหน้าจนมีสมาชิกลูกเสือขยายไปทั่วโลก  ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ มีความคิดว่าลูกเสือจะมีคุณภาพดี  และเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติได้นั้น  จะต้องมีผู้กำกับลูกเสือที่มีคุณภาพก่อน   บี.พี. จึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้มีค่ายลูกเสือถาวรขึ้นสักแห่งหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อทำการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือที่มีคุณภาพสูง  มีความรู้ ความสามารถ และทักษะวิชาลูกเสืออย่างแท้จริง เพื่อจะได้ไปฝึกอบรมลูกเสือให้เกิดผลสำเร็จตามที่หวังเอาไว้ต่อไป
    ในปี พ.ศ. 2462 เจ้าหน้าที่ลูกเสือผู้หนึ่งซึ่งเป็นคหบดีผู้มั่งคั่งในสก๊อตแลนด์  ชื่อ ดับลิว เอฟ เดอะบัวส์    แมคคลาเรน  ได้เสียสละเงินส่วนตัวซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง  คือ กิลเวลล์ปาร์ค นั่นเอง  เพื่อสนองเจตนารมณ์ของ บี.พี. ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่  54 เอเคอร์ ประมาณ 42 ไร่ เป็นที่ดินที่เจ้าของทอดทิ้งไม่ได้เอาใจใส่ดูแล จึงกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า และมีอาคารอยู่หลังหนึ่งทรุดโทรมเต็มที่ กิลเวลล์ปาร์ค อยู่ในเมืองซิงฟอร์ค ห่างจากกรุงลอนดอน ประมาณ 12 ไมล์ (Rex Hazelwood. 1967)
    นายดับลิว  เอฟ  เดอะบัวส์ แมคคาเรน  ได้ตกลงซื้อที่ดินแห่งนี้  เมื่อวันที่   31 มกราคม  พ.ศ.  2462 ต่อจากนั้นจึงได้มีการปรับปรุง และพัฒนาให้เป็นค่ายลูกเสือตามที่บี.พี.  ต้องการ
    ลอร์ด  เบเดน  เพาเวลล์  ทำพิธีเปิดค่ายกิลเวลล์ปาร์ค  วันที่  26 กรกฎาคม พงศ.  2462 โดยใช้เป็นค่ายสำหรับลูกเสือมาอยู่ค่ายพักแรมก่อนในระยะแรก ลูกเสือที่มาใช้ค่าย ฯ ส่วนใหญ่เป็นลูกเสือจากลอนดอนซีกตะวันออก
    บี.พี.  ได้เปิดการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือรุ่นแรก  เมื่อวันที่  8 กันยายน พ.ศ.  2462 (ค.ศ. 1919) โดยบี.พี. เป็นผู้อำนวยการฝึก ฯ และทำการฝึกอบรมด้วยตนเอง  ผู้ที่จะสำเร็จการฝึกอบรมรุ่นแรกนี้  จะได้รับเครื่องหมายบีด 2 ชิ้น สำหรับห้อยคอและบีด 2 ชั้น นี้เป็นบีดดั้งเดิมที่ บี.พี. ได้มาจากหัวหน้าเผ่าซูลู เมื่อ บี.พี.  มีชัยชนะในการรบกับเผ่านี้ บีดนี้เดิมเรียกว่า Thorn beads และจะได้รับสิทธิได้รับเกียรติให้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ ปาร์ค ที่ 1 (First Gilwell Park Group) สมาชิกของกลุ่มนี้ ตามระเบียบต้องเสียค่าบำรุงปีละ 1 ชิลลิง
    ในการฝึกอบรมลูกเสือรุ่นหลัง ๆ บีดเหล่านี้ก็ค่อย ๆ หมดไป บี.พี.  จึงได้ทำบีดจำลองขึ้นมาและมอบให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ซึ่งเรียกว่า เครื่องหมายวูดแบดจ์ (Wood Badge)  ดังที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ (Rex Hazlewood. 1967)
    โดยเหตุนี้เอง การจัดงานชุมนุมสังสรรค์ศิษย์เก่ากิลเวลล์ปาร์ค  ซึ่งเรียกว่ากันทั่วไปว่า กิลเวลล์ รียูเนียน (Gill well Reunion)  บางคนเรียกว่างานชุมนุมผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ จึงมักจะจัดขึ้นในวันสุดสัปดาห์ต้นเดือนกันยายน ของทุกปี เป็นประเพณีสืบต่อกันมา
    หลังจาก ปี พ. ศ.  2462 กิลเวลล์ปาร์ค ก็ได้รับการปรับปรุง และพัฒนาให้ก้าวหน้าเป็นลำดับ โดยได้มีการจัดซื้อที่ดินรอบ  ๆ เพื่อขยายอาณาบริเวณของกิลเวลล์ปาร์คให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจาก  57 เอเคอร์ เป็น 110 เอเคอร์ (ประมาณ  275 ไร่ )  มีวัสดุอุปกรณ์การฝึกอบรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสืออย่างครบถ้วนดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เช่น มีโรงพยาบาลประจำค่าย ฯ  มีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย มีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ มีร้านขายของ เรียกว่า  Providore มีอาคารที่พักสำหรับผู้เดินทางไปเยี่ยมและพักผ่อนที่กิลเวลล์ปาร์ค ลักษณะคล้ายหอพัก อาคารนี้เรียกว่า กิลเวลล์เบอรี่ ( Gillwellbury )  เรามักจะเรียกกันว่า กิลเวลล์บุรี  มีศาสนสถานหลายแห่งสำหรับปฏิบัติศาสนกิจสำหรับผู้นับถือศาสนา คริสต์ ศาสนาอิสลาม  ศาสนาพุทธ (พุทธศาลา)  และ ศาสนาของชาวยิว ฯลฯ ( Rex  Hazlewood. 1967)
    ศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ
    นับตั้งแต่ กิลเวลล์ปาร์ค ได้เกิดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2462  กิลเวลล์ปาร์ค ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือแห่งแรกของโลก  และเป็นต้นกำเนิดแห่งการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสากลตลอดมา จนกระทั่ง ปี พ.ศ.  2504 ซึ่งมีการประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ครั้งที่ 18 ที่เมือง ลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ที่ประชุมสมัชชาลูกเสือโลก ได้ประกาศให้โครงการฝึกอบรมลูกเสือขั้นวูดแบดจ์ และการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับสูง ขั้น ที.ที.ซี.  (T.T.C. , Training  - the – Team Course – การฝึกอบรมผู้ให้การฝึกอบรม)  เป็นโครงการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ที่ถือเป็นมาตรฐานทั่วโลก  โดยที่กิลเวลล์ปาร์คเป็นศูนย์ฝึก ฯ แห่งโลก
    กิลเวลล์ปาร์ค  จึงมีฐานะเป็นองค์กรหนึ่งขององค์การลูกเสือโลก ผู้บริหารศูนย์ฝึกอบรม ฯ กิลเวลล์ปาร์ค มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการค่าย (Camp Chief) สวมเครื่องหมายวูดแบดจ์ 6 ท่อน  (มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สวมเครื่องหมายวูดแบดจ์ 6 ท่อนคือ ผู้บังคับการค่าย ฯ กิลเวลล์ปาร์ค )
    ส่วนบุคคลอื่น ๆ แม้จะได้รับการฝึกอบรม ฯ ขั้น ( T.T.C.)  ( ในสมัยต่อมาเรียกว่า ขั้น ITTC ปัจจุบันนี้เรียกว่า ขั้น LTC ) มาแล้วก็ตาม จะได้รับแต่งตั้งเพียงรองผู้บังคับการค่าย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Deputy Camp Chief – D.D.C. สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือประเภทลูกเสือสามัญ สามัญรุ่นใหญ่ วิสามัญ และ Akela  Leader ซึ่งใช้คำย่อว่า Ak.L สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือประเภทลูกเสือสำรอง และสวมเครื่องหมาย วูดแบดจ์ 4 ท่อน
    ในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 4 ท่อน เรียกว่า Leader Trainer ( L.T. ) และผู้ที่ได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ 3 ท่อน  เรียกว่า Assistant Leader Trainer ( A.L.T. )  สำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือทุกประเภท
    กิลเวลล์ปาร์ค มีผู้บังคับการค่ายตามลำดับดับนี้
    -  ผู้บังคับการค่าย ฯ คนแรก ร้อยเอก ฟรานซิส กิดนี่ ( Francis  Gidney )  เป็นผู้บังคับการค่าย ตั้งแต่ปี  พ.ศ.  2462 - 2466
    -  ผู้บังคับการค่าย ฯ คนที่สอง  พันเอก เจ.เอส.วิลสัน เป็นผู้บังคับการค่าย ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2466 - 2486
    -  ผู้บังคับการค่าย ฯ คนที่สาม  นายจอน  เทอร์แมน ( Mr. John Thuman ) เป็นผู้บังคับการค่าย ตั้งแต่ปี  พ.ศ.2486 - 2512
    ต่อจากนั้น กิลเวลล์ปาร์ค ไม่มีตำแหน่งผู้บังคับการค่าย ฯ เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติแล้ว  แต่เป็นค่ายลูกเสือของสมาคมลูกเสืออังกฤษ ผู้บริหารค่าย ฯ เรียกว่า ผู้อำนวยการค่าย ฯ     ( Director ) ซึ่งมี Mr. John  Huskin  และ  Mr. Direk เป็นผู้อำนวยการตามลำดับจนถึงปัจจุบันนี้ ( Ron Jeffries . 1975 )

ชุดของเครื่องหมายวูดแบดจ์
    ผู้สำเร็จการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นวูดแบดจ์ ในสมัยแรก ๆ จะได้รับชุดของเครื่องหมายวูดแบดจ์ ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือจากกิลเวลล์ปาร์ค ประเทศอังกฤษโดยตรง (ชุดของเครื่องหมายวูดแบดจ์นี้มี  4 ชิ้น) ไม่ว่าจะเข้ารับการฝึกอบรมที่ประเทศใดก็ตาม เพราะบัญชีชื่อของผู้ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นวูดแบดจ์  จะต้องส่งไปเก็บอยู่ในทำเนียบของการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือขั้นวูดแบดจ์ที่กิลเวลล์ปาร์คประเทศอังกฤษแห่งเดียว แล้วกิลเวลล์ปาร์ค  ก็จะส่งชุดของเครื่องหมายวูดแบดจ์มาให้  คือ
    1.  Gilwell Parchment  คือ  วุฒิบัตร ฯ ของ กิลเวลล์ปาร์ค  1 แผ่น
    2.  Gilwell  Woggle  คือ  ห่วงสวมผ้าผูกคอลูกเสือ  1 ห่วง สานด้วยสายหนังเส้นกลม ถักเป็นรูปคล้ายตะกร้อ
    3.  Wood  Badge เครื่องหมายวู้ดแบดจ์  ประกอบด้วย ไม้หมอน 2 ท่อน ร้อยอยู่บนสายหนังสำหรับที่สวมคือ
    4.  Gilwell Scarf – ผ้าผูกคอกิลเวลล์ 1 ผืน  ทอเป็น 2 สี  ด้านนอกเป็นสีน้ำตาล ด้านในเป็นสีแดง  ที่มุมด้านนอกของผ้าผูกคอ มีผ้าตาสก๊อต รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ติดอยู่ ผ้าตาสก๊อตของตระกูลแมคคลาเรน ขนาด 1.5 x 2.5 นิ้ว ปะตรงสามเหลี่ยม
    ผ้าตาสก๊อตนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ให้เกียรติแก่ นายดับลิว . เอฟ เดอะบัวส์  แมคคลาเรน ชาวสก๊อตแลนด์ผู้บริจาคเงินซื้อที่ดิน 57 เอเคอร์ คือ กิลเวลล์ปาร์คนี่เอง เพื่อสนองความประสงค์ของ บี.พี. ด้วยเหตุนี้เอง กิลเวลล์ปาร์ค จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติ (International Training Centre for Scouters)  ในสมัยนั้น และถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งขององค์การลูกเสือ โลก
(Charles Maclean. 1961)
    หมายเหตุ    ในปี พ.ศ.  2511 ท่านอาจารย์ กอง วิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษา ได้มอบหมายให้ นายสุทัศน์ เมาลีกุล  ซึ่งทำหน้าที่ด้านการประสานงานลูกเสือระหว่างประเทศ ของกองการลูกเสือกรมพลศึกษา ดำเนินการคิดหาหนทาง และหาเหตุผลที่ดีเพื่อขอความอนุเคราะห์จากมิสเตอร์ จอห์น  เทอร์แมน ผู้บังคับการค่ายแห่งศูนย์ฝึก ฯ กิลเวลล์ปาร์ค เพื่อขออนุญาตให้คณะลูกเสือแห่งชาติออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์ในเมืองไทยขึ้นเอง และพร้อมทั้งขอลิขสิทธิ์ในการจัดทำผ้าผูกคอกิลเวลล์และเครื่องหมายวูดแบดจ์ โดยขอให้คณะลูกเสือแห่งชาติจัดทำขึ้นเองเช่นเดียวกัน
    การขออนุญาตออกวุฒิบัตรฯ และการขอลิขสิทธิ์ในการจัดทำชุดเครื่องหมายวูดแบดจ์ดังกล่าว โดยไม่เสนอให้ค่าลิขสิทธิ์แก่กิลเวลล์ปาร์คเลยนั้น นับเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว  แต่ก็พยายามอย่างดีที่สุดจนประสบผลสำเร็จ ความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยให้
    -  ประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์ ได้เป็นจำนวนเงินหลายเท่าตัว
    กล่าวคือ  โดยปรกติแล้วสิ่งของที่ส่งมาจากประเทศอังกฤษ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือแต่ละคนจะต้องชำระเงินค่าเครื่องหมายชุดวูดแบดจ์ ในราคาที่สูงมาก เพราะต้นทุนการผลิตในอังกฤษสูง ค่าแรงงานสูงกว่าในประเทศไทย และยังต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปอีก
    -  ประหยัดเงินตราของประเทศ ไม่ให้รั่วไหลไปต่างประเทศได้เป็นจำนวนปีละมาก ๆ
    -  ประหยัดเวลาลงได้มาก เพราะโดยปกติแล้วชุดของเครื่องหมายวูดแบดจ์ที่ส่งมาจากประเทศอังกฤษนั้น เราต้องเสียเวลาในการรอคอยนานมาก เพราะนับตั้งแต่วันที่ส่งรายชื่อผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์ไปให้กิลเวลล์ปาร์คแล้ว ต้องรอคอยถึง 8 –10 เดือน เป็นอย่างน้อย เพราะทางกิลเวลล์จัดส่งทางเรือ การดำเนินการจัดส่งดังกล่าวกว่าของจะมาถึงกรุงเทพฯ จึงใช้เวลานานมาก
    ในที่สุดทางศูนย์ฝึก ฯ กิลเวลล์ปาร์ค นายจอห์น  เทอร์แมน  ตกลงอนุญาตให้คณะลูกเสือแห่งชาติออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวูดแบดจ์ ขึ้นเองและมอบลิขสิทธิ์ให้แก่คณะลูกเสือแห่งชาติในการจัดทำผ้าผูกคอ กิลเวลล์ และเครื่องหมายวู้ดแบดจ์ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แม้แต่บาทเดียว
    คณะลูกเสือแห่งชาติจึงมอบให้องค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้จัดผลิตผ้าผูกคอกิลเวลล์และเครื่องหมายวู้ดแบดจ์ ขึ้นจำหน่ายให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวู้ดแบดจ์ ในราคาที่ประหยัดลงหลายเท่าตัว  พร้อมทั้งยังได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทันใจในการรับ เครื่องหมายวู้ดแบดจ์  ผ้าผูกคอกิลเวลล์ และวุฒิบัตร ฯ เป็นอย่างมาก

สมาชิกของกลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ที่ 1 (The  First Gilwell Scout Group)
    ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นวู้ดแบดจ์  หรือขั้น A.T.C.  และได้รับเครื่องหมายวู้ดแบดจ์แล้ว จากกิลเวลล์ปาร์ค หรือจากที่ไหนก็ตาม ถือว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ที่  1 ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือกิลเวลล์ ที่ 1 นี้ คือ  ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์  ซึ่งเป็นผู้กำกับกลุ่มลูกเสือนี้ตลอดกาล
(The perpetual Group Scout Leader)
    ที่กิลเวลล์ปาร์ค จึงมีการจัดงานชุมนุมศิษย์เก่าของกิลเวลล์  หรือผู้ทีได้รับเครื่องหมายวู้ดแบดจ์แล้ว (รวมถึงผู้ที่สำเร็จการฝึกอบรม ฯ ขั้นวู้ดแบดจ์จากทุกแห่งในโลก)   ปีละ 1 ครั้ง ในวันสุดสัปดาห์ของต้นเดือนกันยายนของทุกปี เรียกว่า Gilwell Reunion ( Rex  Hazlewood. 1976 )
    ในปัจจุบันนี้ถึงแม้ กิลเวลล์ปาร์คจะไม่ได้เป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือนานาชาติแล้วก็ตามแต่สมาคมลูกเสือต่าง ๆ ทั่วโลก ยังถือว่ากิลเวลล์ปาร์คเป็นศูนย์ฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือแห่งแรกของโลก เป็นต้นตำหรับแห่งการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือและเป็นศูนย์ฝึก ฯ ตัวอย่างที่เพียบพร้อมไปด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ครบครัน มีคุณภาพของการฝึกอบรมที่มีมาตรฐานดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและผู้บังคับบัญชาลูกเสือจากทั่วโลกก็ยังให้เกียรติและยังนิยมไปเข้ารับการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือที่นั่นอยู่เช่นเดิม
    Gilwell Park is a camp site and activity centre for Scouting groups and all Youth Organisations, as well as a training and conference centre for Scout Leaders with many business and local groups using the facilities, including the hosting of social events such as weddings and birthday parties. The 44 hectare (109 acre) site is in Sewardstonebury, Epping Forest, close to Chingford, London.
    In the late Middle Ages the area was a farm, growing to a wealthy estate that fell into disrepair towards 1900. It was bought in 1919 by Scout Commissioner William de Bois Maclaren and given to the Scout Association of the United Kingdom to provide camping to London Scouts, and training for Scouters. As Scout Leaders from all countries of the world have come to Gilwell Park for their Wood Badge training, it is one of the landmarks of the world Scouting movement.
    The site contains camp fields for small patrols and can camp up to 3,000 people, indoor accommodation, historical sites, monuments of Scouting, and activities suitable for all sections of the Scouting Movement. It can accommodate events up to 10,000 people. Accommodation at Gilwell Park can be hired for non-Scout activities such as school group camping, wedding receptions and conferences.
    Gilwell Park is one of ten national Scout Activity Centres of the Scout Association, with Baden-Powell House, Downe, Great Tower, Youlbury, Hawkhirst, Ferny Crofts, Crawfordsburn and Yr Hafod.


ที่มา www.punarworn.com/boyscout/3007.doc
       https://www.facebook.com/sommart.sungkapun/posts/10203433616430044
       http://www.snipview.com/q/Gilwell_Park