วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วันคล้ายวันสวรรคต ร.6 (วันวชิราวุธ)

วันวชิราวุธ วันสำคัญกับวงการลูกเสือไทย
    ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการไทยและลูกเสือไทย ซึ่งเป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงริเริ่มกิจการลูกเสือในประเทศไทย

ความเป็นมาของวันวชิราวุธ
    วันวชิราวุธ ถูกำหนดให้ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญๆ และเป็นประโยยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก
    ทั้งนี้พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลากหลายด้าน ทั้งด้านคมนาคม การปกครอง ศิลปวัฒนธรรม วรรณคดี และที่เรารู้จักกันตั้งแต่เด็ก คือ พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการเสือป่าและลูกเสือ เพื่อฝึกให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถในการป้องกันตัวเอง ดูแลตัวเองในหมู่บ้านหรือชุมชนตนเองได้ ด้วยเหตุนี้จึงได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันวชิราวุธ อีกทั้งภายหลังได้มีหลักฐานว่า วันสวรรคตแท้จริงตรงกับเช้ามืดช่วงตี 1 ของวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ทางราชการยังคงถือให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันวชิราวุธตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
    ด้านกิจการเสือป่าและลูกเสือ
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร เพื่อให้เป็นราษฎรที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และส่งเสริมความสามัคคี โดยเหล่าเสือป่าจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบทั่วไปในเมือง ขณะเดียวกันก็ได้ทรงก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อฝึกให้เยาวชนมีความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ สามัคคี ดังที่ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์" และดังพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ และ ความดีมีไชย ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของลูกเสือ

วัตถุประสงค์ของวันวชิราวุธ
    1.เพื่อน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย
    2.เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ถวายเป็นราชสักการะแด่องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย

กิจกรรม
    -ลูกเสือและบุคลากรทางลูกเสือร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อถวายเป็นราชสักการะ
    -ประกอบพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมและถวายราชสดุดี ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

แนวปฏิบัติพิธีถวายราชสดุดีเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (ระดับสถานศึกษา)
    -กองลูกเสือ-เนตรนารี  ตั้งแถว ณ ลานพระบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 6 (ไม่ต้องมีไม้พลองหรือไม้ง่าม  ยกเว้นนายหมู่ลูกเสือ)
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนมาถึงบริเวณพิธี (วงดุริยางค์ลูกเสือและกองลูกเสือเกียรติยศ ตั้งแถวรอรับ)  ผู้ควบคุมแถวสั่ง “ลูกเสือ - ตรง”  วงดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์
        - ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนทำวันทยหัตถ์
        - ลูกเสือในแถวไม่มีอาวุธเคารพในท่าตรง
        - นายหมู่ลูกเสือมีอาวุธทำวันทยาวุธโดยอัตโนมัติ
        - ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทำวันทยหัตถ์
    -จบเพลงมหาฤกษ์  ผู้ควบคุมแถวสั่ง  “ตามระเบียบ, พัก”
    -รองผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน  รายงานจำนวนลูกเสือและ ผบ.ลส.
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน  เดินไปยังลานหน้าพระบรมรูป ร.๖
        -ผู้ควบคุมแถวสั่ง  “ลูกเสือ – ตรง”  ลูกเสือทุกคนทำความเคารพ
        -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนทำวันทยหัตถ์รับการเคารพ 
        -ผู้ควบคุมแถว สั่ง “ตามระเบียบ, พัก” 
    -ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือโรงเรียน  ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และเชิญผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนวางพวงมาลา  ถวายบังคม และนำลูกเสือประกอบพิธีถวายราชสดุดีตามลำดับ
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนวางพวงมาลา (จัดลูกเสือ 2 คน ถือพวงมาลาไว้ให้) ผู้ควบคุมแถว สั่ง “ลูกเสือ-ตรง”  เมื่อผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนวางพวงมาลาเสร็จแล้ว ให้ทำวันทยหัตถ์
    -ผู้ควบคุมแถว สั่ง “ถอดหมวก” ทุกคนถอดหมวก
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนถอดหมวก (ส่งให้ลูกเสือถือไว้)  ผู้ควบคุมแถว สั่ง “นั่ง” ทุกคนนั่งในท่าเตรียมถวายราชสดุดี (ให้ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าครึ่งก้าว คุกเข่าขวาลงจรดพื้น ตั้งเข่าซ้ายขึ้นนั่งลงบนส้นเท้าขวา มือขวาแบคว่ำวางลงบนเข่าขวา  มือซ้ายที่ถือหมวกวางพาดบนเข่าซ้ายและตั้งฉากกับเข่าซ้าย
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนนั่งคุกเข่า 2 ข้างประนมมือ ถวายบังคม 3 ครั้ง แล้วจึงนั่งคุกเข่าขวาลงจรดพื้น ตั้งเข่าซ้ายขึ้น นั่งลงบนส้นเท้าขวา มือขวาแบคว่ำ วางลงบนเข่าขวา ข้อศอกซ้ายพาดบนเข่าซ้าย (ไม่ได้ถือหมวกให้คว่ำมือซ้าย) และตั้งฉากกับเข่าซ้าย
    -ผู้ควบคุมแถว นำร้องเพลงถวายราชสดุดี
        “ข้าลูกเสือ (ทุกคนรับ) เชื้อไทย ใจเคารพขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรง..ศรี
        พระบาท  มงกุฎเกล้า จอมเมาลีทรงปราณีก่อเกื้อลูกเสือ..มา
        ทรงอุตส่าห์  อบรม  บ่มนิสัยให้มีใจ รักชาติ ศา..สนา
        ทรงสั่งสอน  สรรพกิจ  วิทยาเป็นอาภา ผ่องพุทธิ์  วุฒิ..ไกร
        ดังดวงจัน  ทราทิตย์ ประสิทธิ์แสงกระจ่างแจ้ง แจ่มภพ สบ..สมัย
        พระคุณนี้  จะสถิตย์ สนิทในดวงหทัย ทวยราษฎร์ ไม่คลาด...เอย”
        (เนื้อร้องตามทำนองสุโขทัย  เมื่อร้องเพลงถวายราชสดุดี ให้ทุกคนก้มหน้าเล็กน้อย และเงยหน้าขึ้นตามเดิมเมื่อจบเพลง)
    -ผู้ควบคุมแถวสั่ง  “ลุก”  ทุกคนลุกขึ้นโดยดึงเท้าซ้ายกลับมาชิดเท้าขวาและเมื่อผู้ควบคุมแถวสั่ง “สวมหมวก” ทุกคนสวมหมวกและอยู่ในท่าตรง
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน  ให้โอวาทและกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    -จบคำกล่าว วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี
        - ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนกลับหลังหัน ทำวันทยหัตถ์พระบรมรูปรัชกาลที่ 6
        - ลูกเสือในแถวไม่มีอาวุธอยู่ในท่าตรง
        - นายหมู่ลูกเสือมีอาวุธทำวันทยาวุธโดยอัตโนมัติ
        - ผู้บังคับบัญชาลูกเสือทำวันทยหัตถ์
    -ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียนเดินทางกลับ  ผู้ควบคุมแถวสั่ง  “ลูกเสือ – ตรง” วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบเพลงมหาฤกษ์ ทุกคนเลิกทำความเคารพและแยกย้าย
   
    หมายเหตุ  การแต่งกาย เครื่องแบบลูกเสือชุดฝึก ใช้ผ้าผูกคอตามสังกัด

ที่มา http://scoop.mthai.com/specialdays/5434.html
        http://hilight.kapook.com/view/31238
        https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
        วันคล้ายวันสวรรคต ร.6.ppt