หน้าเว็บ

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มาตรฐานด้าน ICT/ETC สำหรับครูยุคใหม่

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยยศ เรืองสุวรรณ

บทนำ
เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ.2542 ผู้เขียนได้เขียนบทความสั้นๆ เรื่องหนึ่งในหัวข้อเรื่อง“มาตรฐานประกันคุณภาพการศึกษา : สร้างมาตรฐานการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ” เพื่อใช้ประกอบการบรรยายในการอบรมอาจารย์และบุคลากรใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งประเด็นสำคัญที่บรรยายในครั้งนั้น ได้เน้นในเรื่อง “วัสดุอุปกรณ์ และสื่อเทคโนโลยีการศึกษา” ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งที่มหาวิทยาลัยคาดหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวในการพัฒนาระบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะเรื่อง IT (Information Technology) ที่มีต่อมาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษา นอกเหนือจากเรื่องอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบหลักของการปฏิรูปการศึกษา จากช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า IT หรือ ICT (Information and Communication Technology) ได้กลายมาเป็นปัจจัยหลักของระบบการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน และขยายออกไปสู่การใช้ในวิถีชีวิตปัจจุบันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการจัดการเรียนการสอนนั้น “ครู” ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการออกแบบ การพัฒนา และการจัดการเรียนการสอน จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ด้วยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ ศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัยก็ตาม ดังนั้น บทความนี้จึงจะเสนอแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา (ETC : Educational Technology and Communications)และมาตรฐาน รวมทั้งตัวอย่างมาตรฐานสถานศึกษาต้นแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ อีกทัศนะหนึ่ง ซึ่งสาระสำคัญดังกล่าวนี้ อาจนำไปประยุกต์เป็นแนวคิดพื้นฐาน และเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานด้าน ICT/ETC และเป็นบรรทัดฐานการกำหนดแนวปฏิบัติสำหรับครูยุคใหม่ต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา
นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นต้นมา ระบบการศึกษา
ได้รับการปฏิรูปไปพร้อมๆ กับการปฏิรูประบบราชการ ในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษานั้น ได้มีการปฏิรูปอย่างครบถ้วนทั้งระบบ ทำให้เกิดความคาดหวังใหม่ทั้งในด้านมาตรฐานและคุณภาพของการศึกษา ประกอบกับบริบทด้านวิถีชีวิตในสังคมเปลี่ยนเข้าสูยุคเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ยากต่อการปฏิเสธที่จะไม่ยอมรับเทคโนโลยีดังกล่าว เทคโนโลยีการศึกษาและการเรียนการสอนได้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่จากการเน้นการใช้เทคโนโลยีการสอนสู่เทคโนโลยีการเรียนมากขึ้น การพัฒนาการเรียนการสอนได้ประยุกต์วิธีระบบสู่การปฏิบัติไปพร้อมๆ กับการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในระบบการเรียนมากขึ้นความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบการจัดการเรียนการสอน “ครู” ในฐานะผู้จัดประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนการสอน ต้องเรียนรู้และปฏิรูประบบการเรียนการสอนไปตามกระบวนการและความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นั่นย่อมหมายความว่า มาตรฐานของครูย่อมจะต้องเพิ่มเติมในเรื่องขีดความรู้ความสามารถในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ครูต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในส่วนของ ICT เพิ่มเข้าไปด้วยนั่นเอง
เอกสารประกอบการประชุมวิชาการ เรื่อง “มาตรฐานด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาสำหรับครูในศตวรรษที่ 21” งานโสตเทคโนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 20 วันที่ 1-2 ธันวาคม 2548รองศาสตราจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา 
เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กล่าวถึงเรื่อง เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ไว้ในหมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มาตรา 63-มาตรา 69 ไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
มาตรา 63 รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุ โทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่นเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุง ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมตามความจำเป็น
มาตรา 64 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิต และพัฒนาแบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อสิ่งพิมพ์อื่น วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่น โดยเร่งรัดพัฒนาชีพ ความ สามารถในการผลิต จัดให้มีเงินสนับสนุนการผลิตและมีการให้แรงจูงใจแก่ผู้ผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาทั้งนี้โดยเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
มาตรา 65 ให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านผู้ผลิต และผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการผลิตรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ
มาตรา 66 ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้ เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
มาตรา 67 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย
มาตรา 68 ให้มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจากเงินอุดหนุนของรัฐ ค่าสัมปทาน และผลกำไรที่ได้จากการดำเนินกิจการด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และโทรคมนาคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรประชาชน รวมทั้งให้มีการลดอัตราค่าบริการเป็นพิเศษในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อการพัฒนาคนและสังคมหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อการผลิต การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 69 รัฐต้องจัดให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายแผน ส่งเสริม และประสานการวิจัย การพัฒนาและการใช้ รวมทั้งการประเมินคุณภาพ และประสิทธิภาพของการผลิตและการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

นอกจากนั้น ใน แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2545-2559 ยังได้กำหนดเป้าหมาย และกรอบดำเนินการในนโยบายข้อ 10 การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และการพัฒนาประเทศ ดังนี้
  1.  เป้าหมาย จำนวน 2 ข้อ ได้แก่
1.1 มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของการศึกษาอย่างทั่วถึง และทัดเทียมกันทุกเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายอย่างมีระบบ

1.2 ประชาชนทุกคนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการเพิ่มพูนความรู้และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควร
2. กรอบดำเนินงาน จำนวน 4 ข้อ ได้แก่
2.1 ส่งเสริมหน่วยงานทุกระดับและสถานศึกษาทุกแห่งให้มีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงและสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
2.2 ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพของการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
2.3 ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ใช้และผู้ผลิตเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีจิตสำนึก มีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผลิตสื่อเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ
2.4 พัฒนาผู้รับและผู้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถเลือกสรรกลั่นกรอง และใช้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามนัยของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จะกล่าวถึงเรื่องวิธีการและเครื่องมือเพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งจะประกอบไปด้วย สื่อมวลชน (Mass Media) โทรคมนาคม(Telecommunication) เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) แหล่งการเรียน (Learning Resources) และสื่อโสตทัศน์ (Audiovisual Media)ในส่วนของเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีกระบวนการ (Process Technology) {ที่ประกอบด้วย การวิเคราะห์ การออกแบบ การพัฒนา การทดลอง/การใช้ และการประเมิน} เทคโนโลยีเครื่องมือ (Product Technology) และเทคโนโลยีการบูรณาการ
กระบวนการและเครื่องมือ (Integration of Process and Product Technology) แนวคิดดังกล่าวอาจสรุปได้ว่าเป็นการประยุกต์วิธีระบบเข้าสู่การศึกษาและการเรียนการสอนนั่นเองความหมายและขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาดังกล่าวข้างต้น จะเป็นแนวคิดและแนวทางตลอดจนบรรทัดฐานในการกำหนดมาตรฐานด้าน ICT และ ETC สำหรับครูยุคปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี

มาตรฐานหรือคุณภาพ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้ให้ความหมายของคำว่า “มาตรฐาน” ไว้ว่าหมายถึง “สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์ที่รับรองกันโดยทั่วไป เช่น เวลามาตรฐานกรีนิช สิ่งที่ถือเอาเป็นเกณฑ์สำหรับเทียบกำหนด ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรม หนังสือนี้ยังไม่เข้ามาตรฐาน” ตัวอย่างของมาตรฐานอาจจะขยายความต่อไปได้อีกมาก เช่น มาตรฐานขั้นต่ำของคนต้องมีอวัยวะ “ครบองค์ 32” มาตรฐานของบ้านต้องมีห้องน้ำ ห้องส้วม วัดต้องมีโบสถ์ โรงเรียนต้องมีห้องสมุดรถยนต์ต้องมีเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวต้องเป็นเกณฑ์ที่รับรองกันโดยทั่วไป ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
“คุณภาพ” หมายถึง “ลักษณะที่ดีเด่นของบุคคลหรือสิ่งของ ดังนั้น “คุณภาพ” จึงเป็นภาวะหรือสภาพที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ ในทางธุรกิจและอุตสาหกรรม ถือว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นบุคคลสำคัญจึงนิยามความหมายของคุณภาพว่า “คุณภาพ” คือ สภาพที่เป็นคุณประโยชน์และทำความพึงพอใจต่อลูกค้ามาตรฐานและคุณภาพมักจะควบคู่กันอยู่เสมอ มาตรฐานเป็นข้อกำหนดองค์ประกอบ ส่วนคุณภาพเป็นระดับของคุณค่าหรือประโยชน์ของแต่ละองค์ประกอบ ตัวอย่างของมาตรฐานรถยนต์ทุกประเภทต้องมีกระจกทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังถ้ารถคันใดมีกระจกไม่ครบทุกด้านถือว่าไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพของกระจกรถยนต์มีสูงต่ำหลายระดับ เช่น แตกแล้วกระจายออกทันที แตกแล้วไม่กระจายของแข็งกระทบก็ไม่แตก ยิงด้วยปืนก็ไม่แตก เป็นต้น มาตรฐานสูงจึงหมายถึง มีองค์ประกอบที่เป็นคุณประโยชน์เป็นจำนวนมาก คุณภาพสูง หมายถึง แต่ละองค์ประกอบและองค์รวมก่อให้เกิดคุณประโยชน์และความพึงพอใจในระดับสูง
มาตรฐานและคุณภาพการศึกษาอันเป็นผลรวมหรือจุดหมายปลายทาง ได้แก่ ผู้เรียนมีคุณภาพ คือเป็นคนที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อตนเองและสังคม เช่น มีความรู้ มีความสามารถ เฉลียวฉลาด คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น มีคุณธรรม เป็นพลเมืองดี ทำงานเป็น มีอาชีพ พึ่งตนเองได้ เผื่อแผ่ผู้อื่น และเสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นต้น ก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางดังกล่าว กระบวนการจัดการศึกษาต้องมีมาตรฐาน และคุณภาพ หลายด้าน เช่น นโยบายและแผนการศึกษา ระบบการศึกษา ระบบบริหารและการจัดการศึกษาครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา อาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมเพื่อการศึกษา หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน วัสดุอุปกรณ์และสื่อเทคโนโลยีการศึกษา การวัดและประเมินผลการศึกษา และงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษา ทั้ง 9 เรื่องนี้จะต้องมีมาตรฐานและคุณภาพที่เป็นคุณประโยชน์ ทำความพึงพอใจต่อทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้เรียน ผู้สอน ผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้ปกครองของผู้เรียน ผู้ใช้บริการและประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี และผู้เป็นสมาชิกของสังคมและของชาติ

มาตรฐานการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อใช้ ICT พัฒนาการเรียนรู้

กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดมาตรฐานการพัฒนาสถานศึกษา (โรงเรียน) ต้นแบบการใช้ ICTเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ขึ้น 5 ด้าน รวม 17 มาตรฐาน ดังนี้
1. ด้านการบริหารจัดการภายในสถานศึกษา
1.1 มีแผนพัฒนาด้าน ICT ระยะกลาง (3-5 ปี) และแผนพัฒนาด้าน ICT ที่อยู่ในแผนปฏิบัติการประจำปีมีระบบเครือข่าย Intranet/LAN ในสถานศึกษา
1.2 มีอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามศักยภาพของสถานศึกษา
1.3 มีซอฟต์แวร์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในสถานศึกษาที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์
2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
2.1 มีแผนการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ ICT เป็นเครื่องมือและได้จัดการเรียนรู้ตามแผนฯ ที่กำหนด
2.2 ครูสามารถใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.3 มีรูปแบบการเรียนรู้ด้วย ICT ที่หลากหลายหรือตามแนวทางที่สถาบันพี่เลี้ยงกำหนด
3. ด้านการจัดการเรียนการสอน
3.1 นักเรียนได้เรียนรู้จากการใช้ ICT เป็นเครื่องมือในรูปแบบที่หลากหลายในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้และได้ทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้ ICT ตามความสนใจของนักเรียน
3.2 นักเรียนมีทักษะการใช้ ICT ในการเรียนรู้ สามารถสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานที่ได้จากการใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
3.3 นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดและคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนสูงขึ้น
4. ด้านกระบวนการเรียนรู้
4.1 มี Web site ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน
4.2 มีการจัดทำระบบ Knowledge Management ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
4.3 มีการจัดรวบรวมสื่อ นวัตกรรมการเรียนการสอนด้วย ICT อย่างเป็นระบบ / จัดเป็นคลัง/แหล่งเรียนรู้/ศูนย์สื่อ ICT หรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (E-Library) ฯลฯ ตามศักยภาพของสถานศึกษา
5. ด้านทรัพยากรการเรียนรู้
5.1 มีแผนพัฒนาด้าน ICT ระยะกลาง (3-5 ปี) และแผนพัฒนาด้าน ICT ที่อยู่ในแผนปฏิบัติการประจำปี
5.2 มีการสนับสนุนงบประมาณด้าน ICT เพื่อการเรียนการสอน
5.3 ส่งเสริมให้มีการประสานเครือข่ายจากชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนด้าน ICT ที่ต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน
5.4 ผู้บริหารโรงเรียนดำเนินการให้มีระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานและรายงานผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
5.5 เป็นสถานศึกษาต้นแบบการใช้ ICT ให้กับโรงเรียนอื่นๆ มาศึกษาดูงาน นอกจากนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำคู่มือการประเมินสถานศึกษาที่พัฒนาเป็นต้นแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยมีข้อตกลงว่า
1. เป็นการประเมินตนเองของสถานศึกษาตามมาตรฐานขั้นต่ำ การพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยคณะกรรมการระดับโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สถานศึกษาตั้งอยู่ ซึ่งคณะกรรมการประเมินต้องมีไม่น้อยกว่า 3 คน ในสถานศึกษาขนาดเล็ก-กลางที่มีนักเรียนน้อยกว่า 1,000 คน และ 5 คน ในสถานศึกษาขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนมากกว่า 1,000 คนโดยประเมินตามมาตรฐานขั้นต่ำ รวม 17 มาตรฐาน
2. เป็นการประเมินตามกรอบมาตรฐาน 15 ข้อ ในช่วงปีการศึกษา 2547 และนำผลการประเมินมาปรับปรุง แก้ไขและพัฒนา โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์และเป้าหมายการประเมินใหม่อีกครั้งในปีต่อไปมาตรฐานการพัฒนาสถานศึกษา (โรงเรียน) ต้นแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ทั้ง 5 ด้าน รวม 17 มาตรฐานดังกล่าวมานี้ เป็นแรงผลักดันอีกประการหนึ่งที่ต้องมีการกล่าวถึง การกำหนดมาตรฐานด้าน ICT สำหรับครูขึ้นมาควบคู่กัน

มาตรฐาน ICT/ETC สำหรับครูยุคใหม่
ดังได้กล่าวในตอนต้นเกี่ยวกับความหมาย และขอบข่ายของคำว่า มาตรฐาน คุณภาพ และเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา รวมทั้งมาตรฐานการพัฒนาสถานศึกษาในการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ จะพบว่า สาระสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษานั้น เป็นทั้งวิธีการและเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนการสอน โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษานั้น ทำให้สามารถจัดการศึกษาและการเรียนการสอนได้อย่างกว้างขวาง และหลากหลายรูปแบบได้มากขึ้นตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทั้ง 6 ข้อที่ว่ามาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
(2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
(3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็นทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
(4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ
(6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
มาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ไม่ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีการเรียนการสอนโดยตรง แต่ได้กล่าวถึงเรื่อง “การจัดกระบวนการเรียนรู้” ซึ่งเมื่อวิเคราะห์รายละเอียดแล้วจะพบว่า“การจัดกระบวนการเรียนรู้” ดังกล่าวนั้น ก็คือ “เทคโนโลยีการเรียนการสอน” นั่นเอง ซึ่งเมื่อนำไปสังเคราะห์กับหมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ทุกมาตรา ยิ่งจะเห็นภาพชัดเจนถึงความจำเป็นที่ครูผู้สอนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ ICT/ETC มากขึ้น สำหรับในต่างประเทศนั้น ได้มีหลายประเทศและหลายองค์การ ได้กำหนดมาตรฐานด้าน
เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาสำหรับครู เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา Maryland State Department of Education ได้กำหนด Maryland Teacher Technology Standards ขึ้น จำนวน 7 มาตรฐาน ผู้อ่านสามารถเข้า ไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.smcm.edu/msde-pt3/projects.htm
นอกจากนั้น สมาคมเทคโนโลยีในการศึกษานานาชาติ (International Society of Technology in Education) ยังได้เสนอมาตรฐานเทคโนโลยีการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมในเรื่องมาตรฐานเกี่ยวกับ ICT/ETC สำหรับครูไว้ด้วยเช่นกัน รายละเอียดดูได้ที่ http://www.iste.org/ ดังนั้น มาตรฐานด้าน ICT/ETC สำหรับครูยุคใหม่ จึงควรพิจารณาจากขอบข่ายของเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นสำคัญ ซึ่งสาระสำคัญควรอยู่ในกรอบแนวคิด 3 ประการ ดังนี้
1. มาตรฐานด้านพุทธิพิสัย ควรประกอบไปด้วยความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการประยุกต์ใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่าของ ICT/ETC เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2. มาตรฐานด้านทักษะพิสัย ควรประกอบไปด้วย ความสามารถในการใช้ (Operate) เครื่องมือ วัสดุและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมต่อการใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้
3. มาตรฐานด้านจิตพิสัย เนื่องจาก ICT/ETC เป็นมรรค (Mean) ผล (End) จึงขึ้นอยู่กับการใช้ICT/ETC นั้นๆ และผู้ใช้ก็คือคน หรือทั้งครูและผู้เรียน ดังนั้น ผู้ใช้จึงควรมีมาตรฐานด้านจริยธรรมคุณธรรม และจรรยาบรรณ เป็นอย่างดี

สรุป

มาตรฐาน ICT/ETC สำหรับครูยุคใหม่ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นว่า สาระสำคัญของมาตรฐานจะขึ้นอยู่กับความหมายและขอบข่ายของเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 2 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ 1) มาตรฐานและคุณภาพ และ 2) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีการศึกษาซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์แล้ว จะทำให้ได้แนวคิดและแนวทางในการกำหนดมาตรฐานด้านICT/ETC สำหรับครูยุคใหม่ได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1) มาตรฐานด้านพุทธิพิสัย 2) มาตรฐานด้านทักษะพิสัย และ 3) มาตรฐานด้านจิตพิสัย ผู้เขียนขอฝากแนวคิดนี้ไว้ให้นักการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปคิดพิจารณา เพื่อกำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพัฒนาวิชาชีพครูของเราต่อไป